Saturday, 27 April 2024
หยุดเผา เรารับซื้อ

‘สว.วีระศักดิ์’ ปลุกพลังทุกภาคส่วนในเชียงใหม่ ร่วมป้องกัน - หยุดเผา คืนอากาศบริสุทธิ์ให้ชาวเชียงใหม่

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เป็นองค์ปาฐกถาพิเศษในเวทีการประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM2.5 Forum) หัวข้อ ‘อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม’ ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดเชียงใหม่ 

โดยมีผู้บริหารและตัวแทนหน่วยงานของรัฐ เครือข่ายอากาศสะอาด สภาลมหายใจ และสถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ตลอดจนนักวิชาการต่างๆเข้าร่วมอย่างคับคั่ง กว่าหนึ่งพันคน

การจัดการประชุมระดับชาตินี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ และสภาลมหายใจเชียงใหม่ พร้อมกับอีกกว่า 50 ภาคีเครือข่ายร่วมจัด

นายวีระศักดิ์ ชี้ว่า แม้จะกำลังมีร่างกฎหมายอากาศสะอาดเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในสมัยประชุมที่จะมาถึงนี้ แต่ฤดูเผา ฤดูฝุ่นก็กำลังจะเกิดก่อน รวมทั้งเป็นปีแล้งจากผลของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ป่าจะแห้ง เชื้อเพลิงใบไม้และทุ่งหญ้าจะเป็นเชื้อเพลิงที่อ่อนไหวมาก การร่วมมือทำความเข้าใจเหตุที่ทำให้เกิดการเผาทั้งในแปลงเกษตรและในพื้นที่ตามกฎหมายป่าไม้จึงต้องเร่งใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในการป้องกันหรืออย่างน้อยก็ลดการจุดเผาลงให้ได้มากที่สุด การทำความเข้าใจเพื่อสร้างความรู้ในการวิเคราะห์จากข้อมูลดาวเทียม จะช่วยให้แต่ละพื้นที่จับทิศทางลม และที่ตั้งจุดเริ่มการเผาได้จากสถิติที่ดาวเทียมบันทึกไว้มาตลอด 20 ปีย้อนหลัง 

นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมควรสื่อสารร่วมกับรัฐไปยังผู้ประกอบการนำเข้าเมล็ดข้าวโพดและอ้อยที่มาจากประเทศข้างเคียง ให้เร่งใช้มาตรการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อปฏิเสธการรับซื้อผลผลิตที่มาจากพื้นที่เผา เพราะในหลายปีที่ผ่านมา จุดความร้อนในไทยลดลงเป็นลำดับแต่ในประเทศข้างเคียง ยังมีอัตราการพบจุดความร้อนเพิ่มขึ้นสวนทางกัน

“เราทุกฝ่ายควรเดินหน้าแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะปอดของเราก็รอไม่ได้ อัตราตายจากโรคทางเดินหายใจทะยานสูงขึ้นมาก รอบบ้านทั้งภูมิภาคก็มีอัตราเร่งเผาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การบูรณาการใช้พลังหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคชุมชน ภาคท้องถิ่น ภาควิชาการที่มีฐานทางวิทยาศาสตร์ และพลังสื่อสารที่เข้าถึงทั้งคนทั่วไป และลึกถึงกลุ่มที่ไม่ใช้ภาษาไทยจะมาจากไหน และจะไปถึงกลุ่มชายป่า ในไร่ ในโรงกลั่น และในรถยนต์ รถเก่า ตลอดถึงคนข้ามชายแดนกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างไร ผมคาดหวังว่า งานประชุมระดับชาติครั้งนี้ จะช่วยหาคำตอบ และแบ่งบทบาทการต่อสู่เพื่อสิทธิในอากาศสะอาดของเรา ที่ต้องใช้ความรู้รอบ และตอบสนอง อย่างมีระบบและทุ่มเท เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จให้ได้ครับ”

สำหรับการประชุมระดับชาติ เรื่องมลภาวะทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 นี้ จัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคมนี้ โดยจะมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มารับข้อสรุปข้อเสนอจากการประชุมระดมข้อคิดที่มาจากกลุ่มผู้ติดตามสถานการณ์เรื่องฝุ่นในวันที่ 4 ธันวาคมเพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

‘รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่’ ย้ำชัด ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน หากต้องการพลิกฟื้น ‘เชียงใหม่’ ไร้ปัญหาไฟป่า - PM2.5

ฝุ่นพิษ PM2.5 จากเดิมที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ของคนกรุง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้คืบคลานเข้าปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือและกำลังจะกลายเป็นต้นเหตุภัยสุขภาพของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะเป็นจังหวัดที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น และเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ภาพความเลวร้ายของสถานการณ์ได้ปรากฏแก่สาธารณชนผ่านสื่อมวลชนและสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง เกิดเป็นกระแสเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหา

อย่างที่ทราบกันดีว่า นอกเหนือจากภาคขนส่ง-คมนาคมที่เป็นต้นกำเนิดของ PM2.5 แล้ว ปัญหา ‘การเผาป่า’ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ที่ผ่านมาจึงมีการเรียกร้องให้วางมาตรการเข้มข้นในการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและยั่งยืน

นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยอมรับว่า ปัญหาไฟป่าและ PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ และทุกภาคส่วนได้พยายามถอดบทเรียนถึงปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างที่ไม่สามารถทำให้ปัญหาหมดไปได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการเตรียมการรับมือทั้งการปลูกป่า การทำป่าเปียก และใช้เทคโนโลยี บริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านแอปพลิเคชันที่เรียกว่า ซึ่งเป็นแอประบบสนับสนุนการตัดสินใจในบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลโดยการใช้ไฟหรือการเผาในที่โล่ง เป็นระบบที่บูรณาการ ทั้งข้อมูลตรวจวัด ข้อมูลดาวเทียม และข้อมูลพยากรณ์จากแบบจำลองคุณภาพอากาศ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง

แต่ทว่า ด้วยสภาพพื้นที่ป่าของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นไม้เบญจพรรณผลัดไป เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ปี เมื่อใบไม้มีจำนวนมากขึ้น หากเกิดไฟป่าขึ้นมา ก็จะเกิดความลำบากในการควบคุม ดังนั้น จึงจะเห็นว่า ทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับไฟป่ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าเพิ่มเติม การทำป่าชุมชน และการทำฝายชะลอน้ำ เป็นต้น

และอีกหนึ่งแนวทาง ที่ทางจังหวัดเชียงใหม่จะทํานั่นก็คือ การดึงเชื้อเพลิงออกมาจากป่า เพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัชพืชใบไม้จากพื้นที่ป่า และตอซังข้าวโพด จากพื้นที่เกษตร เพื่อลดการเผา และนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่เห็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการรับซื้อเศษวัชพืชต่าง ๆ เพื่อนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงแบบชีวมวล 

“การนำเศษวัชพืชไปทำเป็นชีวมวล เป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ผ่านมาทางหวัดได้พยายามที่จะศึกษา แต่ก็ยังไม่ค่อยประสบผลสําเร็จ เนื่องจากว่า มูลค่าของวัสดุพวกนี้ ไม่คุ้มกับที่ชาวบ้านจะขนไปขาย เพราะมีต้นทุนค่าขนส่ง แต่การที่ภาคเอกชนได้เข้ามาเพิ่มจุดรับซื้อ ที่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงง่ายขึ้น เชื่อว่าจะเพิ่มแรงจูงใจให้คนขนวัชพืชและตอซังมาขายเพิ่มมากขึ้น และสุดท้ายจะช่วยแก้ปัญหาการเผาป่าได้อย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือทุกคนต้องตระหนักถึงปัญหาและร่วมมือร่วมใจแก้ไข เพราะไฟป่าหมอกควันที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น ไม่ใช่เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนทุกคนที่จะร่วมกันแก้ไข อย่าลืมว่าอากาศไม่มีพรมแดน ทุกคนหายใจด้วยอากาศเดียวกัน ถ้าเรานิ่งเฉยไม่แก้ไขปัญหาร่วมกัน คิดว่า เรื่องไฟป่า ก็จะอยู่คู่กับเชียงใหม่ไปอีกนาน”

‘คาร์บอนเครดิต’ ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน หนึ่งในหมัดเด็ด ช่วยฟื้นเชียงใหม่จาก PM2.5

ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งความร้อน อุณหภูมิและความชื้น และที่เห็นได้ชัดเจนคือการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายส่วน ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตและภาคเกษตรกรรม

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ มาบ้าง ซึ่งคาร์บอนเครดิตถูกนำมาใช้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เพื่อหวังลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ซีอีโอ เครือจีอาร์ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา PM2.5 ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ ในโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ กล่าวว่า เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศ ได้รายงานว่า จังหวัดตากของประเทศไทย มีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นอุณหภูมิที่สูงมากจนน่าตกใจ ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นหายนะจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักและช่วยกันทำให้โลกนี้เย็นขึ้น

และไม่เพียงเท่านั้น ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ยังเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมเข้าไปอีกด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีว่า โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน 50 องค์กร ได้จับมือเพื่อเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับจังหวัดเชียงใหม่อย่างจริงจัง โดยทาง จีอาร์ดี จะเข้ามาช่วยในด้านคาร์บอนเครดิต สร้างธุรกิจสร้างรายได้ให้คืนสู่เกษตรกรและจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านการลดขยะ ลดการเผา ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะคืนกลับมาเป็นรายได้และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

“ผมพร้อมเชื่อมโยงธุรกิจคาร์บอนเครดิตมาช่วยจังหวัดเชียงใหม่แก้ปัญหา PM 2.5 เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นอีกช่องทางสนับสนุนโดยนำธุรกิจเข้ามาสร้างเม็ดเงินสู่ภาครัฐและภาคประชาชนให้มีรายได้เพียงพอที่จะสามารถกลับมาคิดพร้อมพัฒนาช่วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ได้ ซึ่งประเด็นในเรื่องของคาร์บอนเครดิต ที่เกิดมาจากสภาวะโลกร้อน คือการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป โชคดีที่ประเทศไทยตระหนักในเรื่องของคาร์บอนเครดิตมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนนี้จึงเป็นที่มาของการเอาคาร์บอนเครดิตมาช่วยสร้างธุรกิจ และเอาธุรกิจนั้นมาสร้างเม็ดเงินป้อนกลับมาสู่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วทำให้จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินนั้นไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหา PM 2.5 นั้นให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่ทางภาคีเครือข่ายต้องโฟกัสคือการจัดการขยะทางการเกษตร และการดูแลรักษาป่าเพื่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

‘ชีวมวลอัดเม็ด’ จากเศษพืช - ตอซังข้าวโพด ตอบโจทย์ลดเผาป่า ฟื้นเชียงใหม่จากฝุ่นพิษ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ได้เผชิญปัญหามลพิษทางอากาศอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลเสียต่อทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพของคนในพื้นที่

อย่างที่ทราบกันดีว่าภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ทะยานขึ้นติดอันดับต้น ๆ เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลกอย่างต่อเนื่องทุกปี ในช่วงหน้าแล้ง แม้ว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จะร่วมกันแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ปัญหาคลี่คลายได้ และปัญหาจะวนกลับมาเป็นวัฏจักรทุกปี

อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวอาจจะได้รับการแก้ไขได้อย่างยั่งยืน หลังจากเกิดความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน กว่า 50 องค์กร ดำเนินโครงการที่เรียกว่า ‘หยุดเผา เรารับซื้อ’ เพื่อลดการเผาป่าและตอซังข้าวโพด ซึ่งเป็นต้นตอหลักของปัญหาดังกล่าว

ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวมวล และ Black Pellets ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับซื้อตอซังข้าวโพด เพื่อนำไปผลิตเป็นชีวมวลอัดเม็ด กล่าวว่า ปัญหา PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกมาแล้ว อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งเกิดจากฝุ่นควันไฟป่า และการเผาป่าทำการเกษตร จึงเกิดการร่วมแรงร่วมใจภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ร่วมใจ ขจัด PM2.5 และลดโลกร้อน ในโครงการ หยุดเผา เรารับซื้อ 

ทั้งนี้ ทางชีวมวลอัดเม็ดจอมทอง จะนำองค์ความรู้จากประสบการณ์การผลิตชีวมวลอัดเม็ดกว่า 12 ปี เข้ามาร่วมแก้ปัญหา PM2.5 โดยเริ่มจากตัวเชียงใหม่ ที่ถือว่าเป็นจังหวัดที่เผชิญกับปัญหาดังกล่าวหนักที่สุด

โดยรูปแบบการดำเนินโครงการนั้น ทางชีวมวลอัดเม็ดจอมทอง จะรับซื้อเศษตอซังข้าวโพดและเศษฟางข้าว เพื่อนำมาผ่านกรรมวิธีอัดเม็ด จากนั้นนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อไป

“ปัญหาการเผาป่านั้น เกิดจากคนมักจะนำไม้ไปเป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียว ส่วนเศษตอซังข้าวโพด ฟางข้าว หรือแม้กระทั่งพวกใบอ้อยต่าง ๆ จะไม่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพราะมีความหนาแน่นไม่มากพอและมีความชื้นสูง ดังนั้น วิธีที่จะจัดการกับเศษพืชที่ง่ายสุดคือการเผา จึงทําให้ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อถึงเวลาต้องเริ่มกิจกรรมการเพาะปลูกใหม่ จึงเกิดการเผาป่ากันเป็นวงกว้าง สุดท้ายปัญหาที่ตามมาก็คือฝุ่นควัน PM2.5 อย่างที่เราเห็นกันทุก ๆ ปี”

สำหรับ โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ เชื่อว่าจะเข้ามามีส่วนช่วยให้เกษตรกรลดการเผาป่าน้อยลง เพราะสามารถนำเศษตอซังข้าวโพดและเศษพืชอื่น ๆ มาขายเข้าโครงการ เป็นการเพิ่มรายได้จากเศษซากพืชที่เหลือใช้ให้กับเกษตรกรได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการรวบรวมชีวมวลเพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตที่โรงงานจอมทองนั้น จะต้องเปิดจุดรับซื้อเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านหรือเกษตรกรที่จะนำมาขาย เพราะหากว่าจุดรับซื้ออยู่ระยะไกลมาเกินไปจะไม่คุ้มกับค่าขนส่ง และจะไม่มีแรงจูงใจให้รวบรวมเศษตอซังมาขาย ดังนั้น ในเบื้องต้นได้เปิดจุดรับซื้อทั้งหมด 6 จุดในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบ ๆ โรงงานที่จอมทอง และในอนาคตจะกระจายจุดรับซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้มากขึ้น

‘วิชัย ทองแตง’ นำทัพขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน ร่วมพลิกฟื้น ‘เชียงใหม่’ ไร้ฝุ่นอย่างสมดุลและยั่งยืน

กว่า 10 ปีที่ชาวเชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 แม้ว่าหลายภาคส่วนจะพยายามแก้ปัญหา แต่ทว่าปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นทุกปี

ล่าสุดได้มีความพยายามเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษที่สั่งสมมานานอีกครั้ง ผ่านโครงการที่เรียกว่า ‘หยุดเผา เรารับซื้อ’ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนกว่า 50 องค์กร โดยมี ‘วิชัย ทองแตง’ นักธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย ที่มีแรงบันดาลใจมุ่งหวังให้เชียงใหม่และภาคเหนือปลอดจากฝุ่น PM2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

วิชัย ทองแตง บอกว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันช่วยเหลือชาวเชียงใหม่ เพราะทนไม่ได้ที่ต้องเห็นจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีมลพิษสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียหายต่อภาพพจน์ของประเทศด้วย 

แน่นอนว่า ทุกองค์กรที่ได้ร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ ล้วนตระหนักดีว่า เรื่องปัญหา PM2.5 ที่เกิดขึ้นทุกปีนั้น จะแก้ไขได้จะต้องเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ 

ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ จะรอคอยอีกไม่ได้ เพราะลมหายใจของเชียงใหม่รวยริน และแผ่วเบามากแล้ว 

“แม้ว่าชาวเชียงใหม่จะได้รับข่าวดี หลังศาลได้ตัดสินให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ชนะคดี กรณีได้ฟ้องร้องนายกรัฐมนตรีละเลยการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใส่ใจปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิด 2.5 ไมครอน ไม่มีความจริงใจห่วงใยประชาชนในภาคเหนือที่ต้องสูดดมควันหรือฝุ่นละออง เมื่อวัน 10 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา แต่การบังคับใช้กฎหมายและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลาอีกนาน ขณะที่ปัญหาหมอกควันนั้นรออีกไม่ได้แล้ว วันนี้เราต้องสร้างแนวทางใหม่ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน หวังให้ลมหายใจดแห่งขุนเขาจะพัดกลับมา ให้คนเชียงใหม่จะกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติ ตามวิถีของชาวเชียงใหม่ และวิถีล้านนา ซึ่งเป็นวิถีที่งดงามให้กลับมาเป็นเช่นเดิม”

‘รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่’ ยกวิกฤตหมอกควัน เป็นปัญหาเร่งด่วน หวังคลี่คลายได้ยั่งยืน ภายใต้ภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เป็นปัญหาที่เกาะกินจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ แม้ว่าภาครัฐจะพยายามแก้ไขแต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นทุกปี

นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวยอมรับว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากไฟป่าและหมอกควัน เป็นปัญหาสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่มายาวนานกว่า 10 ปี แม้ว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน จะพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ นั่นเพราะเชียงใหม่มีพื้นที่กว่า 13 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า 9 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 70% ของพื้นที่ทั้งหมด การเฝ้าระวังไม่ให้เกิดไฟป่าจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก

จากข้อมูลในปีที่ผ่านมานั้น พบว่า พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เกิดจุดฮอตสปอต ในพื้นที่ราว 13,000 ไร่ ส่งผลให้มีฝุ่นพิษ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ยาวนานกว่า 70 วัน และมีหลายครั้งที่ขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่งของโลก แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบล้วนไม่สบายใจและต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาที่เกิดไฟป่านั้น ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้เกิดไฟป่าและหมอกควัน ไม่ว่าจะเป็น การจัดชุดเข้าไปดับไฟ และการประสานงานเครื่องบิน เพื่อปฏิบัติการดับไฟป่าทั้งภาคพื้นดินและภาคอากาศ 

ขณะเดียวกัน ยังได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เข้าไปช่วยดับไฟ อีกทั้งยังมีหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ระดมรถฉีดน้ำ เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่เขตเมือง ลองทำมาแล้วทุกวิถีทาง แต่ก็แก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ประสบความสําเร็จเท่าที่ควร

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ย้ำว่า ไฟป่าหมอกควันเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ที่ต้องช่วยกันดูแลไม่ให้เกิดขึ้น เพราะมีผลกระทบทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องของสุขภาพ เรื่องของปัญหาสังคม เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า เชียงใหม่นั้นเป็นจังหวัดที่มีรายได้เกือบ 80% มาจากภาคท่องเที่ยวบริการ หากเมืองถูกปกคลุมด้วยหมอกควัน สุดท้ายใครจะอยากมาเที่ยว 

ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ต้นตอของไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่มาจากคนทั้งนั้น โดยสาเหตุประการแรกมาจากการเผาที่เพื่อเพาะปลูก ประการที่สอง เผาเพื่อหาของป่า และประการที่สาม เผาป่าล่าสัตว์ ซึ่งทั้งสามส่วนที่เป็นต้นตอของไฟป่า ทางภาครัฐได้พยายามดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ 

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้ เริ่มมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยในเรื่องการรับซื้อเศษวัชพืช และตอซังข้าวโพด จากเกษตรกร เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดวิธีหนึ่งที่ เพราะการทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายเศษตอซัง หวังว่าจะช่วยลดการเผาตอซังและเผาป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม

แน่นนอนว่า การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ปัญหานี้จะคลี่คลายได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งการมีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เกิดความร่วมแรงร่วมใจอย่างทรงพลัง จะสามารถแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ ได้สําเร็จอย่างยั่งยืน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top